การ แพร่กระจายของเชื้ออีโคไล O157:H7 พบได้ทั่วไปในฟาร์มปศุสัตว์ และสามารถตรวจพบเชื้อในลำไส้ของวัวควายที่มีสุขภาพดี ไม่เป็นสัตว์ป่วยแต่อย่างใด เนื้อสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อบดมีโอกาสปนเปื้อนเชื้ออีโคไล O157:H7 ได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนในฟาร์ม การปนเปื้อนจากกระบวนการผลิต แม้กระทั่งการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นม เมื่อคนกินเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อและไม่ได้ปรุงอาหารให้สุกจึงได้รับเชื้อได้ ง่าย เนื้อที่ไม่สุกและปนเปื้อนเชื้อมักจะดูไม่ออกจากลักษณะภายนอกและไม่มีกลิ่น เหม็นแต่อย่างใด จากการศึกษาวิจัยทางจุลชีววิทยาพบว่าการที่ร่างกายได้รับเชื้ออีโคไล O157:H7 เพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้
เชื้อ อีโคไล O157:H7 ยังอาจพบได้ในผลิตภัณฑ์นม น้ำผลไม้ ผักสดบางชนิด ซาลามี่ และพบว่าเกิดการะบาดจากแหล่งน้ำที่มีเชื้อโรคนี้อยู่อีกด้วย เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปอีกได้ ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการ ระบาดของโรคนี้ สิ่งสำคัญที่ควรเน้นเสมอคือ เรื่องของการล้างมือ หลักฐานทางวิชาการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเพียงการล้างมือเท่านั้น ก็สามารถลดการกระจายของเชื้ออีโคไล O157:H7 ได้ สำหรับบ้านที่มีเด็กอ่อนต้องให้การดูแลเกี่ยวกับการขับถ่ายของเด็กด้วย เนื่องจากพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของการระบาด เด็กเล็กสามารถแพร่เชื้อได้นานถึงสองสัปดาห์ และในเด็กโตพบว่าหากได้รับเชื้อแล้วมักจะเกิดอาการเจ็บป่วยเป็นโรคแทบทุกราย
เชื้ออีโคไล O157:H7 ก่อให้เกิดโรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วง ในบางรายอาการอาจไม่รุนแรงมากและหายได้ภายในเจ็ดวันสิบวัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยน้อยรายที่จะถ่ายอุจจาระปกติ โรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากการติดเชื้อนี้มักจะไม่มีไข้ แต่ผู้ป่วยจะปวดท้องมาก ถึงขั้นปวดบิดได้ ในเด็กอ่อนอายุน้อย 5 ปีและในผู้สูงอายุ มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน เม็ดเลือดแดงถูกทำลายและทำให้ไตวาย เรียกชื่อว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย (hemolytic uremic syndrome) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบได้ร้อยละ 2-7 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคนี้ และเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันในเด็ก การติดเชื้ออีโคไล O157:H7 จึงมีความสำคัญและเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ควรให้ความสนใจอย่างหนึ่ง
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
|
---|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น